กระดูกไก่ดำ ๒

Sauropus brevipes Müll.Arg.

ชื่ออื่น ๆ
ข้ามเขา (สุราษฎร์ธานี)
ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ใบเรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศร่วมต้น สีเหลือง คล้ายจาน ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ดอกเพศเมียออกเดี่ยว คล้ายดอกเพศผู้แต่ใหญ่กว่า ผลแบบผลแห้งแตก

กระดูกไก่ดำชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๑ ม. กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๑.๗ ซม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. แผ่นใบบาง ปลายมนหรือแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น ก้านใบยาว ๒ มม. มีหูใบรูปไข่ปลายแหลม ๑ คู่ ยาวประมาณ ๑ มม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อตามง่ามใบ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. โคนก้านช่อและก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็กรูปไข่ปลายแหลม ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบรวมเมื่อยังอ่อนสีเขียว แก่แล้วสีเหลือง โคนติดกันคล้ายจานปลายแยกเป็น ๖ แฉก เกสรเพศผู้ ๓ อัน ดอกเพศเมียคล้าย


ดอกเพศผู้แต่ใหญ่กว่า ออกเดี่ยวตามง่ามใบรังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๓ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม ขนาด ๒-๓ มม.

 กระดูกไก่ดำชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ขึ้นทั้งในป่าเบญจพรรณและป่าดิบ ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

 ในมาเลเซียใช้ปรุงยาแผนโบราณแก้ท้องเสีย (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระดูกไก่ดำ ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Sauropus brevipes Müll.Arg.
ชื่อสกุล
Sauropus
คำระบุชนิด
brevipes
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1828-1896)
ชื่ออื่น ๆ
ข้ามเขา (สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์